Reserve Capacity (RC) อีกค่าหนึ่งของแบตเตอรี่ที่ควรรู้

Last updated: 26 ส.ค. 2561  |  20229 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Reserve Capacity (RC) อีกค่าหนึ่งของแบตเตอรี่ที่ควรรู้

Reserve Capacity (RC) อีกค่าหนึ่งของแบตเตอรี่ที่ควรรู้

ปัจจุบันนี้ในตลาดบ้านเรามีแบตเตอรี่มากมายหลายยี่ห้อ ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าเป็นแบตเตอรี่จากนอกมักจะมีป้ายสลากบอกข้อมูลต่างๆ มากกว่าของในบ้านเรา อย่างเช่น AH CCA CA RC เป็นต้น

เราจะมาดูค่าอีกค่าหนึ่งซึ่งจะใช้เป็นตัววัดว่าแบตเตอรี่นั้น “อึด” แค่ไหน นั่นคือค่า RC หรือ Reserve Capacity นั่นเอง

ค่า RC หรือ Reserve Capacity นั้น ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ความจุสำรอง นั่นหมายถึงว่า ค่าตัวนี้จะบอกให้เราทราบว่าแบตเตอรี่ลูกนั้นจะมีกำลังจ่ายไฟสำรองได้นานแค่ไหนต่อการจ่ายกระแสที่กำหนด โดยมีหน่วยเป็น “นาที”

โดยปกติการวัดค่า RC นั้นก็คือการดึงกระแสไฟในอัตรา 25A คงที่ต่อเนื่องกันในอุณหภูมิ 25°C และดูว่าแบตเตอรี่จะหมดภายในกี่นาที ตัวอย่างเช่น ถ้าระบุว่า RC = 160 Min นั่นก็หมายถึงถ้าดึงไฟออกจากแบตเตอรี่ที่ 25A ในอุณหภูมิ 25°C จะสามารถจ่ายไฟต่อเนื่องได้ 160 นาทีนั่นเอง

อ้อ เกือบลืมไป คำว่าแบตเตอรี่หมดในทางวิชาการคือเมื่อแรงดันหรือโวลท์ลดลงจนเหลือ 10.5V (หรือ 1.75V ต่อเซล) อ้อ อีกนิด แปะไว้ตรงนี้เลยครับว่า ที่โวลท์ 10.5V นี่เองที่เรียกว่า DOD 100% นั่นเอง

ดังนั้น ค่า RC จึงเป็นตัวบอกว่าแบตเตอรี่ลูกนี้อึดแค่ไหน ทั้งนี้เนื่องจากแบตเตอรี่ที่มีค่า CCA สูงกว่าอีกลูกหนึ่งอาจจะมีค่า RC ต่ำกว่าอีกลูกหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงว่าในกรณีคับขันเช่นลืมปิดไฟหรือเปิดวิทยุค้างไว้ แบตเตอรี่ลูกที่มีค่า RC สูงกว่าจะสามารถเหลือไฟซึ่งอาจจะช่วยคุณสตาร์ทรถได้อีกสักครั้งสองครั้ง

การดูค่า RC นี้ สามารถนำมาคำนวณระยะเวลาในการใช้งานประเภท Deep Cycle ได้ดี แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าค่า RC ที่กำหนดนี้ไม่ใช่ค่าแบบบัญญัติไตรยางค์ ตัวอย่างเช่น ค่า RC @ 25A = 160 Min คือดึงไฟ 25A ได้เวลา 160 นาที ดังนั้นถ้าเราจ่ายไฟที่ 50A แล้ว แบตเตอรี่ลูกนั้นจะจ่ายไฟได้ 80 นาทีนั้นผิดเต็มประตูทีเดียว

ทั้งนี้ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกระแสไฟที่จ่ายกับความจุของแบตเตอรี่นั้นไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear relationship) ตามกฎของ Peukert’s Law ที่ว่า “ความจุของแบตเตอรี่จะน้อยลง ถ้ากระแสที่จ่ายมากขึ้น และ ความจุของแบตเตอรี่จะมากขึ้น ถ้ากระแสที่จ่ายน้อยลง” หรือจำง่ายๆ ยิ่งดึงไฟสูงเท่าไหร่ ความจุของแบตเตอรี่ก็จะยิ่งน้อยลง ตามตัวอย่างด้านบน ถ้าแบตเตอรี่ที่ระบุว่า RC @ 25A = 160 Min ถ้านำมาจ่ายกระแสไฟที่ 50A โดยทั่วไปจะจ่ายไฟได้แค่ 65-70 นาทีเท่านั้น จะไม่สามารถจ่ายได้ 80 นาที

ดูๆ ไปแล้วค่า RC นี้ก็คล้ายๆ ค่า Ah หรือ แอมแปร์ชั่วโมง แต่จริงๆ แล้วค่าทั้ง 2 นี้ใช้สำหรับตอบปัญหาที่ต่างกัน นั่นคือ

RC จะบอกคุณว่า ถ้าคุณดึงกระแสไฟในอัตราคงที่หนึ่งแล้ว แบตเตอรี่จะสามารถจ่ายกระแสไฟได้นานแค่ไหน

Ah จะบอกคุณว่า คุณสามารถดึงกระแสไฟในอัตราเท่าไหร่ เพื่อให้แบตเตอรี่สามารถจ่ายกระแสไฟได้ 20 ชั่วโมง

คราวนี้เวลาอ่านสลากที่แปะมาบนแบตเตอรี่ก็พอจะบอกได้ว่าแบตฯ ลูกไหนเหมาะกับการใช้งานของคุณละครับ ถ้าคุณเป็นขาลุยชอบเข้าป่าขึ้นดอยละก็แนะนำให้ดูค่า RC ไว้ก่อนเลยครับ แต่ถ้าเช้าสตาร์ทรถส่งลูกที่โรงเรียนเย็นไปรับกลับบ้านก็....อะไรก็ได้...มั้งครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้